top of page

พิพิธภัณฑ์เปยหลิน แหล่งรวมศิลาจารึกมากที่สุดในประเทศจีน


พิพิธภัณฑ์เปยหลิน

พิพิธภัณฑ์เปยหลิน(碑林博物馆) แปลว่าพิพิธภัณฑ์ป่าศิลาจารึก เดิมเป็นวัดหลวงในลัทธิขงจื้อ(สถาบันขงจื้อ) พิพิธภัณฑ์เปยหลินตั้งอยู่ที่เมืองซีอาน ประเทศจีน มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 930 ปี มีข้อปฏิบัติสำหรับการเดินเข้าวัดซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ขงจื้อไม่ใช่นักรบแต่เป็นอาจารย์ เวลาใครต้องการเข้าพบขงจื้อจึงห้ามพกอาวุธและต้องลงจากหลังม้า โบราณวัตถุส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์เปยหลิน คือศิลาจารึก หินแกะสลักและภาพอักษรวิจิตร ซึ่งมีมากกว่า 4,000 ชิ้น วัตถุโบราณส่วนมากภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ยุคราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์ฮั่น ซึ่งโดยมากจะเป็นของราชวงศ์ฮั่น และที่สำคัญพิพิธภัณฑ์เปยหลินนี้มีศิลาจารึกที่เก่าที่สุดในประเทศจีนและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศจีนเ้เ้ด้

พิพิธภัณฑ์เปยหลิน
 

ข้อพิเศษของพิพิธภัณฑ์เปยหลิน 碑林博物馆

1. มีอาคารโบราณสถาน

2. มีศิลาจารึกมากมาย (รวบรวมได้มากที่สุดในประเทศจีน)

3. เก็บรักษารูปปั้นแกะสลัก ทางพระพุทธศาสนา ที่มีการจัดแสดงตามยุคสมัย

 
ศิลาที่เขียนเกี่ยวกับ ความกตัญญูกับญาติพี่น้อง และ ความกตัญญูกับประเทศ

การได้เดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑ์เปยหลินในช่วงเช้าของฤดูหนาว ทำให้การเรียนรู้และการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่สุดพิเศษ รู้สึกราวกับว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังเปิดรอต้อนรับเราในฐานะแขก VIP เนื่องจากผู้คนยังเข้ามาเยี่ยมชมกันน้อย มีคนจีนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากอิตาลีที่เหมือนจะมาเพื่อดูศิลาจารึกเพียงแผ่นเดียวคือ ศิลาจารึกเกี่ยวกับประวัติคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็นศิลาจารึกที่ได้รับความนิยมเป็นอยากมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรบที่มาเมืองซีอาน ต้องไม่พลาดที่จะมาดูศิลาจารึกหลักนี้ สำหรับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เปยหลินในครั้งนี้ ได้รับความกรุณาจากเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เปยหลินนำชมและให้เข้าชมได้ฟรี (ปกติราคาบัตรอยู่ที่ประมาณ 80 หยวน ราว 400 บาทต่อคน)

ศิลาที่เขียนเกี่ยวกับ ความกตัญญูกับญาติพี่น้อง และ ความกตัญญูกับประเทศ

เมื่อผ่านประตูเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ ก็พบดอกไม้นานาพันธุ์ และต้นไม้ขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายเป็นแถวตามแนวถนน เดินไปได้ระยะหนึ่งจะได้พบศิลาจารึกหลักหนึ่งมีขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ ศิลาจารึกหลักนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นมรดกของประเทศจีน โดยฮ่องเต้หลี่หลงจีเป็นผู้เขียน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความกตัญญูต่อญาติพี่น้อง และความกตัญญูต่อประเทศชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าที่นี่มีศิลาจารึกที่เกี่ยวกับอาจารย์สอนสมาธิอีกมากมายรักษาไว้อีกด้วย

แผ่นศิลามีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา

ถัดเข้ามาภายในเป็นที่ตั้งของอาคารไม้หลังเก่าอายุหลายร้อยปี พบแผ่นหินศิลาจารึกเกี่ยวกับพุทธศาสนาแผ่นหนึ่ง มีรอยแตกร้าวอยู่ด้านบนเนื่องมาจากแผ่นดินไหว ศิลาจารึกหลักนี้เป็นศิลาจารึกที่มีชื่อเสียง และมีความสำคัญมากด้วยเหตุผล3 ประการ คือ 1. ฮ่องเต้หลี่ซื่อหมินเป็นผู้เขียนเนื้อหา 2. เป็นแม่แบบตัวอักษรจีนที่ดีที่สุด ของหวังซีจือผู้มีชื่อเสียงในด้านเขียนอักษรจีน 3. เขียนเรื่องพระหทัยสูตร ซึ่งใช้เวลานานถึง 17 ปี ในการค้นคว้า และเขียน

และเมื่อเดินถัดออกมาอีกห้อง ก็จะพบกับกำแพงศิลาจารึกที่เรียงตัวยาวไปตามแนวผนังห้อง ศิลาจารึกเหล่านี้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมีกระจกหุ้มไว้ ทั้งหมดที่เห็นอยู่นี้คือตำราเรียนของขงจื้อ 65,000 ตัวอักษรจารึกในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นเรื่องราว และความรู้ต่างๆเอาไว้สอบจอมหงวน ในสมัยแรกๆนั้นผู้ที่จะศึกษาจะใช้ผ้าไหมเขียนคัดลอกตำรา แต่ต่อมาเมื่อชาวจีนมีการคิดค้นการทำกระดาษขึ้น ก็ได้นำกระดาษมากดกับแม่พิมพ์เพื่อคัดลอกตำราเหล่านี้ ตำราเหล่านี้ภายหลังได้รับความนิยมและถ่ายทอดไปถึงญีปุ่น และเกาหลี

พิพิธภัณฑ์เปยหลินยังเก็บรักษาของล้ำค่าและสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายไว้ อาทิ ศิลาจารึกทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาจีนโบราณ และเป็นภาษาคล้ายภาษาจีนที่แม้กระทั้งผู้ดูแล เจ้าหน้าที่ภายในพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่สามารถให้คำตอบและรู้ความหมายที่แท้จริงได้ และจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าพิพิธภัณฑ์เปยหลินมีศิลาจารึกมากกว่า 4,000 หลักนั้น แทบทุกชิ้นได้ถูกบันทึกเก็บรักษาไว้เป็นภาพถ่าย และคัดลอกใส่กระดาษด้วยวิธีโบราณ แต่น้อยชิ้นนักที่จะมีการแปลและตีความหมาย ซึ่งยังมีศิลาจารึกอีกหลายพันหลักที่ไม่ได้แปลและอธิบายความหมายไว้แต่อย่างไร มีเพียงวัตถุโบราณที่ตั้งไว้ภายในอาคารไม้หลังเก่า ที่รอผู้มีความรู้ความสามารถเข้าไปถอดความ และอธิบายความหมายของแต่ละตัวอักษรให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจในข้อความเหล่านั้น และเห็นคุณค่าวัตถุโบราณของคนรุ่นก่อนที่ได้บันทึกไว้

นอกไปจากศิลาจารึกที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว พิพิธภัณฑ์เปยหลินยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งการจัดแสดงมีความน่าสนใจอยู่ที่ มีการจัดแสดงตามยุคสมัย ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในจีน และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงยุคเวลาสถานการณ์ของบ้านเมืองในสมัยนั้นๆ ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นี้เองเราจะได้เห็นศิลาจารึกที่ชี้ให้เห็นว่าในยุคนั้น พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศจีนได้อย่างไร และชี้ให้เห็นว่าศิลาจารึกนั้นถูกจารึกไว้ด้วยหลายความเชื่อ เพราะคนในหมู่บ้านมีทั้งผู้ที่นับถือพุทธศาสนาและผู้ที่นับถือลัทธิเต๋า ทำให้จารึกหลักนั้นมีการแบ่งการจารึกออกเป็นด้านหนึ่งพุทธ ด้านหนึ่งเต๋า ใครที่นับถือเต๋าก็ไหว้ด้านหนึ่ง ใครนับถือพุทธศาสนาก็ไหว้อีกด้านหนี่ง เป็นการผสมผสานและการปรับตัวของพุทธศาสนาในยุคแรกๆที่เข้ามายังประเทศจีน และนอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายในพิพิธภัณฑ์เปยหลิน

หลักศิลาที่ยังไม่มีใครถอดความหมาย

หลักศิลาที่ยังไม่มีใครถอดความหมาย

Comments


Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
bottom of page